การจัดกิจกรรมป้องกันความเสี่ยงต่อความรุนแรง
การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน
1. สถานการณ์ยาเสพติด
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สรุปผลการดำเนินการปราบปรามยาเสพติด นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 ถึง 30 เมษายน 2546 ตามนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดขั้น “แตกหัก” ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผลปรากฏว่า มีการจับกุมผู้ผลิต 423 ราย ผู้ต้องหา 353 คน จับกุมรายสำคัญ 1,505 ราย ผู้ต้องหา 1,729 คน รายย่อย 13,748 ราย ผู้ต้องหา 14,585 คน จับกุมผู้ต้องหาครอบครองยาบ้า 19,112 ราย ผู้ต้องหา 19,663 คน จับกุมผู้เสพ 19,442 ราย ผู้ต้องหา 19,653 ราย ตั้งจุดสกัด 182,123 ครั้ง จับกุมผู้เสพยาเสพติดได้ 5,041 ราย ผู้ต้องหา 5,322 คน ปิดล้อมแหล่งยาบ้า 64,911 ครั้ง จับกุมผู้เสพยาบ้าได้ 10,165 ราย ผู้ต้องหา 10,884 คน เข้าตรวจสถานบริการ 87,776 ครั้ง ตรวจปัสสาวะ 49,718 ราย พบปัสสาวะสีม่วง 2,679 คน รวมผู้ต้องหาที่จับได้ทั้งหมด 54,983 ราย จำนวนผู้ต้องหาทั้งสิ้น 55,983 คน ยึดของกลางยาบ้าได้ทั้งหมด 13,150,335 เม็ด และผลจากมาตรการดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 1,600 คน ?
ผลสะท้อนจากนโยบายของรัฐบาล ได้รับเสียงปรบมือที่ดังกึกก้องจากประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของ “การวิสามัญฆาตกรรม” และ “การฆ่าตัดตอน” จากสื่อมวลชน นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน อย่างรุนแรงถึงขนาดนายกทักษิณเองก็ออกมาตอบโต้ว่า “ยูเอ็น (UN) ไม่ใช่พ่อ” “พ่อผมชื่อเลิศ แม่ผมชื่อยินดี”
ปัญหายาเสพติดถึงแม้รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะขจัดให้หมดไปจากผืนแผ่นดินไทย แต่จากข่าวทางโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์มีให้เห็นเกือบทุกวันว่า มีการจับยาเสพติดและยึดทรัพย์อยู่เป็นประจำทุกวี่ทุกวัน ในขณะเดียวกันก็มีการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ทางการ และการฆ่าตัดตอนจากเจ้าหน้าที่ไม่เป็นทางการเกือบทุกรายวัน และที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง พบว่าเด็กและเยาชนหันกลับมานิยมเสพกาวและสารระเหย เพื่อทดแทนยาบ้า เนื่องจากยาบ้าหายาก และมีราคาแพงขึ้นถึง 3 เท่าตัว นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กและเยาวชนหันไปทดลองเสพสารเสพติดใหม่ๆ ที่กฎหมายและผู้ใหญ่อย่างเรายังตามไม่ทัน เช่น ไนตรัสออกไซด์ หรือที่เรียกกันในหมู่วัยรุ่นว่า “ดมตรัส” และ ดิ้ว เป็นต้น
จะเป็นไปได้หรือ? ที่ยาเสพติดจะหมดไปจากประเทศไทยภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2546 ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไปแล้ว หรือจะต้องฆ่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกคน ยาเสพติดจึงจะหมดไปจากผืนแผ่นดินสยามอันรมเย็นเมื่อในอดีต
2. สาเหตุของการใช้สารเสพติด
ปัจจัยที่เกี่ยวกับการใช้สารเสพติดมีอยู่ 3 ปัจจัย คือ (กรมราชทัณฑ์)
1. ตัวสารเสพติด
2. ผู้เสพ
3. สิ่งแวดล้อม
2.1 สารเสพติด
โดยตัวของสารเสพติดจะมีฤทธิ์ Reinforcing effect ซึ่งหมายถึงฤทธิ์เสพติด หรือฤทธิ์ที่กระตุ้นให้คนอยากกลับไปใช้ใหม่อีกเรื่อยๆ ซึ่งเป็นฤทธิ์ต่อสมองและจิตใจทำให้เกิด Craving คือ ความยากใช้สารเสพติด โดยสารเสพติดจะไปกระตุ้นสมองบางส่วนทำให้เกิดความพอใจ และนำไปสู่ความยากใช้ (Craving) สารเสพติดในแต่ละตัวจะออกฤทธิ์ในสมองแต่ละส่วนที่ต่างกัน แต่โดยรวมแล้ว สารเสพติดทั้งหมดจะไปกระตุ้นในส่วนที่เรียกว่า Brain Reward System ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมความพอใจ อยากจะทำ อยากจะใช้อยู่เรื่อยๆ
2.2 ผู้เสพ
• เกิดความสงสัย อยากลอง ซึ่งพบในกลุ่มเด็กและเยาวชนผู้มีอายุน้อยมีความกระตือรือร้นอยากท้าทาย อยากทดลอง
• ทัศนคติที่มีต่อสารเสพติด ถ้ามองว่าเป็นสิ่งที่เลว ก็จะไม่อยากลอง แต่ถ้ามีทัศนคติที่ไม่น่ากลัว ก็อาจจะทำให้อยากลองยา
• ความรู้เกี่ยวกับสารเสพติด หากผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับสารเสพติดที่ดี ก็จะมองยาในทางลบและไม่คิดที่จะลองเสพยาเสพติด
2.3 สิ่งแวดล้อม
• ความหายาก หาง่าย ภายในสภาพแวดล้อม ถ้าหายาได้ง่ายก็จะทำให้เกิดการลองใช้ยาได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันถ้าไม่สามารถหายาได้หรือหายายากก็จะทำให้ไม่มีโอกาสในการทดลองยา
• ราคาของที่ถูกหรือแพง ก็จะทำให้เกิดโอกาสในการทดลองยาใช้ยา ที่แตกต่างกันในกรณีของยาที่ราคาถูกก็จะทำให้มีความสามารถในการซื้อหามาลองได้
• กลุ่มหรือเพื่อน ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการเสพยา ถ้าอยู่ในกลุ่มที่ใช้ยาก็จะเกิดการชักชวนให้ทดลอง หรือในบางกรณี วัยรุ่นมักจะมีความรู้สึกว่าถ้าจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้จะต้องเหมือนๆ กับกลุ่ม
• ประเพณี วัฒนธรรม หรือศาสนา เช่น การใช้สารเสพติดในการบำบัดหรือรักษาโรคหรือความเจ็บป่วยเป็นต้น (แก้ไขเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553
3. ผลกระทบของปัญหายาเสพติด
ยาเสพติดเป็นปัญหาที่ “เป็นภัยคุกคาม กัดกร่อน บ่อนทำลาย” ประเทศไทยส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งต่อปัจเจกบุคคล และสังคมส่วนรวมในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (แผนแม่บทเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9. 2545 : 12 – 14)
ผลกระทบต่อตัวบุคคล
1. ยาเสพติดทุกชนิด จะมีผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะด้านบุคลิกภาพและสุขภาพอนมัย กรณีผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดจะมีโอกาสติดและแพร่เชื้อเอดส์ถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้ตัวยาบางตัว เช่น แอมเฟตามีน หากมีการใช้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อระบบจิตและประสาทส่วนกลาง และทำลายสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนทำให้ผู้เสพมีความสับสน กังวลใจและนอนไม่หลับ รวมถึงพฤติกรรมความรุ่นแรงต่างๆ
2. ผู้ติดยาจะไม่ได้รับการยอมรับ และถูกจำกัดสิทธิทางกฎหมายในการสมัครเป็นผู้แทนหรือสมาชิกทางการเมือง รวมทั้งการเข้ารับราชการ
3. ผู้ใช้สารเสพติดที่เป็นผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถบรรทุกมักปฏิบัติงานด้วยความประมาทก่อให้เกิดอุบัติเหตุ และอุบัติภัยที่นำไปสู่ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชนและสังคม
1. ครอบครัวที่มีผู้ติดยา มักได้รับความเดือดร้อนจากผู้ติดยาในทุกด้าน นำไปสู่ความยุ่งยาก ขัดแย้ง แตกแยก และสิ้นเปลืองในการแก้ปัญหา
2. ปัญหายาเสพติด ได้ก่อให้เกิดความหวาดระแวงจากประชาชน และสังคมในวงกว้างเนื่องจากเกรงว่าบุตรหลานจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือถูกประทุษร้ายจากผู้เสพยาที่มีอาการผิดปกติทางจิต
3. ผู้ติดยามักก่อให้เกิดอาชญากรรมต่อเนื่อง ตั้งแต่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับแหล่งอยายมุข การลักเล็กขโมยน้อย การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การพนันและอาชญากรรมต่าง ๆ
4. สำหรับผู้ค้าและหรือผู้เสพซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อถูกจับกุมและดำเนินการทางกฎหมาย จะส่งผลกระทบให้สมาชิกภายในครอบครัวได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่อยู่ภายใต้การปกครองจะต้องออกจากโรงเรียน ซึ่งเป็นการทำลายอนาคตของประเทศชาติ
ผลกระทบต่อการบริหารจัดการภาครัฐ
1. คดียาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นภาระต่องานด้านกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบตั้งแต่ในระดับตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ และการคุมประพฤติ นำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย การขยายงาน ขยายอัตรากำลัง การขอผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น และการก่อสร้างสถานที่รองรับผู้ติดยาเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่เพิ่มสูง และทำให้การดำเนินคดีด้านอื่นๆ เกิดความล่าช้า
2. นอกจากนี้ ปัญหายาเสพติดได้ก่อให้เกิดการทุจริต คอรัปชั่น โดยเฉพาะการทุจริตต่อหน้าที่ การรับสินบน การกลั่นแกล้งรีดไถ แสวงหาผลประโยชน์จากผู้กระทำความผิดซึ่งทำให้ประชาชนและสังคมเกิดความไม่ศรัทธาและเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ
1. การผลิตและการค้ายาเสพติด จัดเป็นกลุ่มธุรกิจ และเศรษฐกิจนอกกฎหมายที่ไม่ก่อให้เกิดการผลิต แม้ว่าการค้ายาเสพติดบางส่วนจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้เมื่อมีการค้าขาย แต่ก็เป็นรายได้สำหรับคนบางกลุ่มที่กระทำผิดกฎหมายและเอารัดเอาเปรียบสังคม
2. ธุรกิจการค้ายาเสพติด ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียเงินตราแก่กลุ่มผู้ผลิตที่อยู่ภายนอก
ประเทศจำนวนมหาศาลซึ่งจากการศึกษาวิจัยศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจการเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2540 พบว่าเศรษฐกิจการค้ายาเสพติดมีมูลค่าระหว่าง 28,000-33,000 ล้านบาท
3. ปัญหายาเสพติดทำให้รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนมาก เพื่อใช้ในการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษาและฟื้นฟู แทนที่จะนำไปใช้ในการด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็น เช่น การศึกษา การช่วยเหลือผู้ด้วยโอกาส ฯลฯ
4. ปัญหายาเสพติดส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ เพราะทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชนต้องสูญเสียทรัพยากรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยไม่จำเป็น รวมทั้งกระทบต่อทรัพยากรมนุษย์ เพราะยาเสพติดมีส่วนทำลายพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสมองของเด็กและเยาวชน และแรงงานที่จะเป็นพลังของประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องการความรู้และพลังปัญญาเป็นฐานในการพัฒนา
ผลกระทบต่อความมั่นคงและชื่อเสียงของประเทศ
1. ผลสำรวจของสำนักวิจัยเอแบค ระหว่าง 1-4 พฤศจิกายน 2542 พบว่าประชาชนร้อยละ 31.7 เห็นว่ายาเสพติดเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศโดยมีความสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของชาวต่างชาติ สาเหตุเนื่องจากปัญหายาเสพติดได้ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อบ้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิตยาเสพติด
2. การแพร่ระบาดของยาเสพติด จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทยไม่เป็นที่ไว้วางใจของนานาชาติในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ไม่กล้าเข้ามาท่องเที่ยวหรือลงทุนทางการค้า และธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ประเทศคู่แข่งฉวยโอกาสในการโจมตีประเทศไทย
4. การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน
จากผลการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย มีลักษณะการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แม้แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีความตั้งใจจริง พยายามที่จะปราบปรามทั้งบนดินและใต้ดินเพื่อที่จะขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ผู้เขียนขอเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหานี้ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในชุมชนระดับรากหญ้า มาตรการสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ บทบาทของสถาบันทางสังคมไทยในระดับรากหญ้า ซึ่งประกอบด้วย สถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน สถาบันโรงเรียน และสถาบันศาสนา เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ผู้เขียนขอแยกประเด็นการป้องกันปัญหายาเสพติดกับประเด็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดออกจากกัน เพื่อให้สะดวกแก่การเสนอแนวคิด
4.1 การป้องกันปัญหายาเสพติด
ปัญหายาเสพติดทำให้ประเทศชาติของเราต้องสูญเสียพลเมือง เด็กและเยาวชนไปเป็นจำนวนมาก ยาเสพติดทำลายทั้งสุขภาพ อนาคต ตลอดจนการสูญเสียชีวิต การป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นมาตรการที่ดีที่สุด ดั่งคำสุภาษิตที่ว่า “ป้องกันไว้ ดีกว่าแก้” แม้ในความเป็นจริงจะเรื่องยากมากที่พวกเราจะปกป้องลูกหลานของเราให้รอดพ้นจากวงจรของยาเสพติด แต่หากเรานิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร โดยอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่ธุระ การป้องกันปัญหายาเสพติดมิใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์การใดองค์กรหนึ่ง แต่หากเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติที่จะต้องร่วมมือร่วมใจป้องกันไม่ให้ลูกหลานของเราตกเป็นทาสของวงจรอุบาทว์ โดยเฉพาะสถาบันทางสังคมในระดับรากหญ้าควรต้องมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการป้องกันปัญหานี้ พอจะแยกบทบาทหน้าที่ในการป้องกันปัญหายาเสพติดของสถาบันทางสังคมในระดับรากหญ้าได้ดังนี้
4.1.1 บทบาทของสถาบันครอบครัว
สถาบันครอบครัวถือเป็นสถาบันแรก ที่มีบทบาทหน้าที่ในการป้องกันปัญหายาเสพติดโดยตรง ทั้งทางนิตินัย และพฤตินัย พ่อแม่ คือ บุคคลสำคัญในการอบรม เลี้ยงดู สั่งสอนลูก นอกจากนี้ยังจะต้องประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ถูกต้องให้กับบุตรหลาน
สถิต วงศ์สวรรค์ (อ้างถึงใน ธัญญา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. 2545 : 129) กล่าวไว้ว่า การอบรมเลี้ยงดูเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์รู้กฎเกณฑ์ทางสังคม โดยผ่านทางผู้ให้การอบรม (พ่อ แม่) ทำให้คนคนนั้นเกิดการเรียนรู้และเกิดการประพฤติปฏิบัติตาม กระบวนการอบรมเลี้ยงดูจะอบรมกล่อมเกลาเด็กตั้งแต่เกิด โดยบุคคลที่อยู่แวดล้อม เช่น พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง เป็นต้น ทำให้เด็กได้รู้สึก ได้เข้าใจ ได้รู้สิ่งดีไม่ดี สิ่งใดควรทำไม่ควรทำ จนทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ เช่น เรียบร้อย เกเร มีมารยาท ไม่มีมารยาท ไปจนถึงลักษณะซื่อสัตย์ คดโกง มีเมตตา หรือโหดร้าย
ดังนั้นสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะพ่อ แม่ เป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการอบรมเลี้ยงดู ให้ความรู้สิ่งไหนดีไม่ดี สิ่งไหนควรทำไม่ควรทำ จะต้องปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับลูก รวมถึงการประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีให้กับลูก เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำที่ถูกต้อง สร้างความอบอุ่นให้กับครอบครัวไม่สร้างปัญหาให้กับครอบครัว อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวานิช เคยกล่าวในที่ประชุมสัมมนา เรื่อง บทบาทของเพศที่ 3 ว่า “ทำครอบครัวให้ร่มเย็นเด็กจึงอยากจะอยู่บ้าน ถ้าหากครอบครัวมีแต่ความร้อนรุ่มเด็กก็ไม่อยากจะอยู่บ้าน”
4.1.2 บทบาทของสถาบันชุมชน
ชุมชนจึงมีส่วนสำคัญในการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะชุมชนที่มีขนาดเล็ก คนในชุมชนจะต้องช่วยกันอบรมสั่งสอน ปลูกฝังค่านิยม อุดมการณ์ คุณธรรมที่ดีงามและเหมาะสม ช่วยกันสอดส่องดูแลเด็กและเยาวชนในชุมชนโดยเปรียบเสมือนเป็นลูกหลานของตนเอง ชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี คนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดี คนในชุมชนประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน เด็กและเยาวชนย่อมเจริญเติบโต และเรียนรู้แต่สิ่งดีๆ จากชุมชน
4.1.3 บทบาทของโรงเรียน
โรงเรียนเป็นอีกสถาบันหนึ่ง ที่จะต้องทำหน้าที่เชื่อมต่อจากสถาบันครอบครัว โรงเรียนเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนที่กว้างกว่าครอบครัว และเป็นสถาบันที่เด็กต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนนานมาก และอยู่ในช่วงวัยของการเรียนรู้ การเลียนแบบ การจดจำ เป็นต้น ดังนั้นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งได้แก่ ครู จะต้องทำหน้าที่ในการถ่ายทอด การอบรม สั่งสอน รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก
ชีวิตส่วนใหญ่ของเด็กในปัจจุบันจะใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนนานกว่าในอดีต เด็กมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งที่ดีและไม่ดีจากโรงเรียนมากมาย ดังนั้นสถาบันโรงเรียนจึงจะต้องมีบทบาทและหน้าที่มากกว่าในอดีต นอกจากจะทำหน้าที่ถ่ายทอดให้ความรู้แล้ว สถาบันโรงเรียนจะต้องทำหน้าที่เหมือนสถาบันครอบครัวแห่งที่ 2 ซึ่งจะต้องคอยทำหน้าที่ปลูกฝังค่านิยมที่ดี ให้ความอบอุ่น ให้คำปรึกษาที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชนของชาติ
4.1.4 บทบาทของสถาบันศาสนา
ศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวของคนในชุมชน มายาวนานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สถาบันศาสนาเป็นแหล่งที่สร้างและค้ำจุนคุณธรรมความดีงาม สั่งสอนให้สอนให้คนเป็นคนดี ไม่ประพฤติปฏิบัติตนไปในทางที่เสื่อมเสียศีลธรรมอันดีงาม ทั้งตัวแทนที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดศาสนายังเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชน สถาบันศาสนา เป็นสถาบันอีกสถาบันหนึ่งที่เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน คนในชุมชนจะให้ความเกรงใจเป็นพิเศษ และคนในชุมชนยังยึดถือแบบอย่างที่ดีงามของสถาบันศาสนาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินวิถีชีวิต
4.2 การแก้ไขปัญหายาเสพติด
สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในปัจจุบันเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีทั้งผู้เสพ ผู้จำหน่าย ผู้ผลิต และผู้เสี่ยงที่จะไปใช้ยาเสพติดเพราะถูกชักจูงหรืออยากทดลอง ดังนั้นการป้องกันปัญหาอย่างเดียวทำไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหายาเสพติดไปพร้อมๆ กัน ในเมื่อสถานการณ์ปัจจุบันมีทั้งผู้เสพ ผู้จำหน่าย ผู้ผลิต และกลุ่มเสี่ยง เราจะทำอย่างไรบุคคลเหล่านี้จึงจะหมดไป ในที่นี้ไม่ได้หมายความเช่นเดียวกับรัฐบาลที่กำลังทำให้บุคคลเหล่านี้หมดไปจากโลกนี้ แต่หมายความว่า ทำอย่างไรบุคคลเหล่านี้จะเลิกเสพ เลิกผลิต เลิกค้า
4.2.1 บทบาทของสถาบันครอบครัว
สถาบันครอบครัวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกันปัญหายาเสพติด ในขณะเดียวกันก็เป็นสถาบันแรกที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติด เมื่อเราทราบว่าบุตรหลานของเราติดยาเสพติด เราจะทำอย่างไร? เราจะต้องตั้งสติให้ดี อย่าตกใจเกินกว่าเหตุ แล้วค้นหาให้พบถึงสาเหตุของการติดยา พูดคุยทำความเข้าใจถึงโทษของยาเสพติด ให้ความหวังกับลูก ปรึกษาแพทย์หรือผู้ที่มีความรู้ด้านนี้เพื่อทำการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจเพื่อป้องกันการกลับไปใช้ยาอีกครั้งหนึ่ง
4.2.2 บทบาทของสถาบันชุมชน
สถาบันชุมชนต้องทำบทบาทหน้าที่ต่อจากสถาบันครอบครัว สอดส่องดูแลบุคคลในชุมชน ปลูกฝังค่านิยมที่ดี สร้างวัฒนธรรมที่ดีงาม ให้การยกย่องนับถือคนดี ไม่นับถีอคนที่เงิน ไม่ให้เกียรติคนที่ประพฤติปฏิบัติตนไม่ดี
นอกจากนี้ชุมชนต้องเข้าใจเห็นใจผู้ที่กลับตัวกลับใจ เห็นความสำคัญของกลุ่มคนดังกล่าวเป็นพิเศษ เพราะหากกลุ่มคนดังกล่าว หันกลับไปใช้ยาเสพติดอีกก็จะสร้างปัญหาให้กับชุมชนอย่างไม่รู้จักจบสิ้น หากยังมีบุคคลที่ยังมีกิเลสหนาอยู่อีกไม่ยอมลด ละ เลิก ชุมชนจะต้องมีความเข้มแข็งพอที่จะใช้มาตรการทางสังคมขั้นเด็ดขาด เช่น ไม่คบค้าสมาคมด้วย ไม่ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน คนในชุมชนไม่พูดจาด้วย ไม่ยอมรับว่าบุคคลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นต้น
4.2.3 บทบาทของโรงเรียน
เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โรงเรียนจะต้องกล้าเผชิญกับความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นห่วงแต่ชื่อเสียงของโรงเรียน เมื่อโรงเรียนประสบกับปัญหาเด็กนักเรียนติดยาจะต้องรีบแจ้งให้ผู้ปกครองทราบทันทีเพื่อหาแนวทางแก้ไข ส่งไปทำการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจเพื่อที่จะสามารถกลับมาเรียนหนังสือได้ตามปกติ ครูจะต้องมีบทบาทสำคัญในการชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจและยอมรับนักเรียนที่ผ่านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจเพื่อที่จะสามารถเรียนหนังสือได้ตามปกติ
4.2.4 บทบาทของสถาบันศาสนา
หลักคำสอนของศาสนามีส่วนสำคัญในด้านจิตใจ ทำให้จิตใจสงบ เป็นที่พึ่ง และที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนในชุมชน ทุกชุมชนมีสถาบันทางศาสนาเป็นแหล่งที่พึ่งตั้งแต่เกิดจนถึงตาย สถาบันศาสนาจึงมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยอาจจะทำหน้าที่ในการปรับสภาพจิตให้ให้แก่ผู้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟู หรือการใช้หลักคำสอนของศาสนาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตน เป็นต้น
5. บทสรุป
หากเราย้อนกลับไปดูว่าสถาบันต่างๆ ในสังคมไทย โดยเฉพาะสถาบันทางสังคมในระดับรากหญ้า ได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน สถาบันโรงเรียน สถาบันศาสนา ได้ทำบทบาทหน้าที่ของตนครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือยัง หากยังไม่ทำจงเริ่มต้นทำบทบาทหน้าที่ตั้งแต่วันนี้
เมื่อสถาบันครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ศาสนา ต่างทำหน้าที่บทบาทของตนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และเข้มแข็ง และเมื่อชุมชนหลายๆ ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยการขยายเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เวลานั้นแหละสังคมไทยจึงจะปลอดจากยาเสพติด
ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ ดังนั้นการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงมิใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์การใดองค์กรหนึ่ง แต่หากเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติที่จะต้องร่วมมือ ร่วมใจกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากแผ่นดินไทยก่อนที่ชาติไทยจะตกเป็นทาสของ “ยาเสพติด”
กิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
1) มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เช่น การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การช่วยเหลือแบบเพื่อน
ช่วยเพื่อน ทำให้จำนวนนักเรียน นักศึกษา ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงลดลง
2) ส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น กิจกรรมนักเรียนแกนนำ ครูแกนนำ กิจกรรมรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (สถานศึกษาปลอดบุหรี่)
กิจกรรม/ชมรม TO BE NUMBER ONE การประกวดดนตรี แข่งขันกีฬา เปิดเวทีให้แสดงออก การจัดนิทรรศการความรู้
3) การบริหารจัดการด้านสวัสดิศึกษา เช่น การขจัดมุมอับลับตา
4) มีแหล่งเรียนรู้ด้านยาเสพติด
5) มีการประสานความร่วมมือการดำเนินงานร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น
ตัวอย่างกิจกรรมในชมรม TO BE NUMBER ONE ( ในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา )
1. สร้างกระแสในกลุ่มเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด
1.1 รับสมัครสมาชิก TO BE NUMBER ONE
1.2 จัดบอร์ดหรือชุดนิทรรศการต่อต้านยาเสพติด โดยร่วมกันจัดทำอย่างต่อเนื่อง
1.3 จัดทำแผ่นพับ โปสเตอร์ ความรู้ต่อต้านยาเสพติดแจกให้ นักเรียนและผู้ปกครอง
1.4 ออกเสียงตามสายเป็นประจำ เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายของยาเสพติด รวมทั้งเชิญชวนให้สมัครสมาชิก TO BE NUMBER ONE
1.5 รับสมัครอาสาสมัครแกนนำนักเรียน/ประชาชนที่เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้สอดส่องและเป็นแกนนำ “เพื่อนเตือนเพื่อน”
1.6 จัดกลุ่ม /ชมรมต่างๆ ในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น ดนตรี กีฬา ชักชวนให้เพื่อนๆได้สนใจและร่วมกิจกรรม
1.7 ประกวดคำขวัญต่อต้านยาเสพติด และนำผลงานที่ได้รับรางวัลเสนอให้กับสถานศึกษาหรือจังหวัดเพื่อส่งเข้าประกวดในระดับเขตและประเทศ
1.8 ชั่วโมง Home room ในสถานศึกษา มีการแลกเปลี่ยนวิธีการในการหลีกเลี่ยงยาเสพติดและวิธีปฏิเสธเมื่อถูกชักชวน
1.9 เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
1.10 จัดทำจุลสารของชมรม TO BE NUMBER ONE
1.11 เสริมสร้างขวัญกำลังใจ เช่น นิมนต์พระมาสอนธรรมะอย่างสม่ำเสมอ ฝึกปฏิบัติเรื่องสมาธิ เป็นต้น
1.12 เข้าค่ายกิจกรรมของโรงเรียน เช่น ลูกเสือ หรือค่ายต่อต้าน ยาเสพติด เป็นต้น
2. สร้างความเข้าใจและยอมรับผู้มีปัญหายาเสพติด
2.1 ไม่รังเกียจหรือแบ่งแยกผู้ที่ติดยาเสพติด ให้กำลังใจและชักชวนให้ไปรับการรักษา
2.2 ให้ข้อมูลสถานบริการแก่ผู้ประสงค์ขอรับการรักษาจากโครงการ TO BE NUMBER ONE “ใครติดยายกมือขึ้น”
2.3 จัดแกนนำอาสาสมัครสอดส่องดูแลไม่ให้มีการใช้ยาเสพติด
2.4 จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นของสมาชิกชมรม TO BE NUMBER ONE เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดยาเสพติด
2.5 ให้ข้อมูลแก่ครู อาจารย์ หรือผู้นำชุมชนเมื่อพบเห็นผู้ใช้ยาเสพติด
2.6 จัดระบบการดูแลและช่วยเหลือผู้ที่ติดยาเสพติดในสถานศึกษาหรือในชุมชนของตนเองในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน
2.7 ขอความช่วยเหลือจากครู อาจารย์ หรือพ่อแม่ผู้ปกครองเมื่อไม่สามารถแก้ไขปัญหาเองได้
2.8 จัดแกนนำอาสาสมัครในการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้ผู้ที่ติดยาเสพติด
2.9 จัดให้มีบริการให้คำปรึกษาปัญหาต่าง ๆ แก่สมาชิกชมรม โดยผู้เชี่ยวชาญ
2.10 จัดให้มีบริการแนะนำด้านการฝึกอาชีพและจัดหางาน
3. ขอรับการสนับสนุนองค์ความรู้/ วิทยากร ในเรื่องการป้องกันยาเสพติด
3.1 ให้ความรู้เรื่องทักษะชีวิตในการจัดการกับปัญหาในชั่วโมง Home room ในสถานศึกษา หรือเสียงตามสายในชุมชน
3.2 จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ วิธีการ และทักษะในการปฏิเสธ ศึกษาความรู้จากแหล่งต่างๆ เช่น จากโทรศัพท์ 1667
และ www.dmh.moph.go.th/to_be_no.1
3.3 ขอความอนุเคราะห์วิทยากร หนังสือ เอกสารเรื่องยาเสพติดจากกรมสุขภาพจิต หรือแหล่งต่างๆ ที่ให้การสนับสนุน
3.4 ขอข้อมูลวิทยากรจากกระทรวงแรงงานในด้านการฝึกอาชีพ/พัฒนาฝีมือ และการบริการ
3.5 ขอข้อมูลวิทยากรจากทบวงมหาวิทยาลัยเพื่อให้บริการ แนะแนวในการศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น