การแก้ปัญหาในสถานการณ์เสี่ยงต่อความรุนแรง
๓.๑ ปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่น
๑) ความรุนแรงทางเพศ
ความรุนแรงทางเพศที่เป็นปัญหาในสังคมไทย คือ การข่มขืน ระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๖-๒๕๕๐ มีรายงานการข่มขืนในสื่อมวลชนที่ทำการสำรวจ จำนวน ๑,๓๗๙ ครั้ง ร้อยละ ๕๘ เป็นการข่มขืนโดยไม่มีการทำร้ายร่างกาย ร้อยละ ๑๓ เป็นการข่มขืนและทำร้ายร่างกาย ร้อยละ ๑๖ ข่มขืนและฆ่า และร้อยละ ๑๓ เป็นการข่มขืนซ้ำซาก คือเกิดกับผู้หญิงคนเดียวกันหลายครั้ง ผู้ถูกข่มขืนส่วนใหญ่เป็นเด็กหญิงอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี
ความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน เป็นปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน แม้จะไม่มีข้อมูลที่เป็นระบบมาสนับสนุนในเรื่องนี้ แต่ก็พอจะอนุมานได้จากเหตุการณ์ที่เป็นข่าวทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรุนแรงทางเพศที่ครู(ผู้ชาย) กระทำต่อนักเรียน(ผู้หญิง) ทั้งในลักษณะของการข่มขืน และในลักษณะของการใช้เล่ห์กลหว่านล้อมด้วยสิ่งแลกเปลี่ยน เช่น เงิน สิ่งของ คะแนน ความรุนแรงทางเพศเช่นนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วโดยมากเด็กมักจะไม่รายงานให้พ่อแม่ทราบ เว้นแต่พ่อแม่จะสังเกตได้เองจากอาการผิดปกติของเด็ก
๒) การทะเลาะวิวาท
ปัญหานักเรียนตีกันเป็นปัญหาสังคมที่มีอยู่ตลอดเวลา โดยความรุนแรงได้พัฒนารูปแบบและวิธีการขึ้นเรื่อยๆ มีอาวุธที่คิดค้นขึ้นเอง ซึ่งสาเหตุมีทั้งจากการไม่ชอบหน้ากันเป็นการส่วนตัว ศักดิ์ศรีของสถาบันที่สืบทอดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง
เหตุการณ์นักเรียนตีกันในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ในปี ๒๕๔๘ มี๑,๖๗๓ ครั้ง(วันละเกือบ ๕ ครั้ง) ในช่วง ๓ ปีต่อมา (พ.ศ.๒๕๔๙-๒๕๕๑) สถิติมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเล็กน้อย ในปี ๒๕๕๑ สถิติตำรวจรับแจ้งเรื่องนักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันเพิ่มขึ้นเป็น ๒,๑๖0 ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙ โดยเฉลี่ยแล้วเกิดเหตุขึ้นวันละประมาณ ๖ ครั้ง หรือทุกๆ ๔ ชั่วโมงต่อครั้ง ส่วนการรับแจ้งนักเรียนที่จับกลุ่มกันเพื่อเตรียมจะก่อเหตุมี ๑,๒๕๕ ครั้ง หรือ เฉลี่ยวันละประมาณ ๓ ครั้ง
พัฒนาการครั้งล่าสุดของความรุนแรงในโรงเรียนที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยขึ้น คือ การตบตีกันในที่สาธารณะของนักเรียนหญิง โดยมีการ “นัดพบ” กันแบบตัวต่อตัว แบบเปิดเผย โดยมีเพื่อนๆ ยืนเชียร์กันอย่างสนุกสนาน และบ่อยครั้งจะมีการถ่ายคลิปวีดีโอ แล้วแบ่งปันกันผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโพสต์ไว้ตามเว็บไซต์บางแห่ง เพื่อประกาศศักดิ์ศรีและประจานคู่กรณีให้ได้อับอายไปพร้อมกันด้วย
๓.๒ การใช้ทักษะการตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์เสี่ยงต่อความรุนแรง
การตัดสินใจ คือ กระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วย การศึกษาปัญหา แนวทางเลือกและวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยอาศัยความมีเหตุผล ความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจ
การตัดสินใจใดก็ตามทุกครั้งจะมีผลต่อชีวิตของผู้ตัดสินใจเสมอ การตัดสินใจจึงมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มาก การตัดสินใจที่ดีที่สุดควรเป็นการตัดสินใจที่รอบคอบ เป็นกระบวนการและมีระบบโดยกการคำนึงถึงผลดีผลเสีย พิจารณาอย่างรัดกุมเลือกทางที่เหมาะสม
การวางแผนอย่างรอบคอบ เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่ทำให้ผู้ตัดสินใจมีความมั่นใจในการตัดสินใจซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
๑.ขั้นที่หนึ่ง รู้ถึงสิ่งที่ต้องตัดสินใจ บุคคลต้องตระหนักว่าเขาต้องตัดสินใจก่อน กระบวนการคิดหาแนวทางจึงเกิดตามมา ดังนั้นขั้นที่หนึ่งจึงเป็นขั้นที่สำคัญที่สุด
๒.ขั้นที่สอง การรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจผู้ตัดสินใจต้องรู้ข้อมูล ดังนี้
- ข้อมูลอะไรที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเรื่องนั้น
- แหล่งข้อมูลมาจากไหน
- จะได้รับข้อมูลนั้นมาได้อย่างไร
๓. ขั้นที่สาม รู้จักกับทางเลือกที่มีอยู่ โดยใช้ข้อมูลในข้อที่สอง ถ้าทางเลือกมีไม่มาก อาจต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณางเลือกอื่นประกอบ
๔. ขั้นที่สี่ การพิจารณาทางเลือกแต่ละด้าน ทั้งผลดีและผลเสีย แล้วนำผลดีผลเสียมาพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกว่า เพื่อแก้ปัญหาจากขั้นที่หนึ่งได้หรือไม่
๕. ขั้นตัดสินใจเลือก นำข้อพิจารณาจากข้อที่สี่ มาจัดลำดับทางเลือก
๖. ขั้นที่หก เป็นขั้นดำเนินการตามที่ตัดสินในเลือกในขั้นที่ห้า
๗. ขั้นที่เจ็ด เป็นการทบทวนการตัดสินใจและผลที่ได้รับ เมื่อกระทำการตัดสินใจไปแล้ว หากการตัดสินใจไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการอาจปฏิบัติตามทางเลือกอันดับต่อไปหรือเริ่มต้นพิจารณาจากขั้นที่สองอีกครั้งหนึ่ง
การวางแผนให้รอบคอบ เป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาทุกชนิดเป็นการวางแผนที่ฉลาดให้กับชีวิตตนเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น